ผู้ผลิต-จัดจำหน่ายสินค้าการเกษตรตราคนยิงธนู

ผู้ผลิต-จัดจำหน่ายสินค้าการเกษตรตราคนยิงธนู

ผู้ผลิต-จัดจำหน่ายสินค้าการเกษตรตราคนยิงธนู

การเลี้ยงกบ

การเพาะพันธุ์กบขั้นตอนง่ายๆในการเป็นเกษตรมือใหม่

         การเพาะพันธุ์กบเป็นการเพิ่มจำนวนของประชากรกบที่เลี้ยงอยู่ เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการอุปโภคบริโภคภายในครัวเรือน หรือจะเป็นด้านเศรษฐกิจเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงกบ หรือ ชาวบ้านที่จะลองเพาะพันธุ์กบขาย

         ซึ่งกบสามารถจำหน่ายได้ทุกระยะตั้งแต่ระยะลูกอ๊อดไปจนถึงระยะที่กบโตเต็มวัยพร้อมทำพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งปัจจัยสำคัญในการเพาะพันธุ์ลูกกบก็คือพ่อแม่พันธุ์นั่นเอง ถ้าเลือกพ่อแม่พันธุ์กบดี แข็งแรง ก็จะออกไข่ให้เยอะ ลูกออกมาแข็งแรง จำนวนการรอดชีวิตก็เยอะขึ้น

         ซึ่งในการเพาะพันธุ์กบส่วนมากจะเป็นกบเนื้อ กบที่เลี้ยงเพื่อจำหน่ายออกสู่ตลาด กบที่นิยมเลี้ยงกันส่วนมากนั้นคือกบจาน กบนา เลี้ยงง่าย กินอาหารดี เจริญเติบโตไว เพาะพันธุ์ง่าย

         โดยการขยายพันธุ์กบนั้นจะมีอยู่ 2 แบบก็คือ การผสมพันธุ์ตามฤดูกาลปกติ กับ การผสมพันธุ์นอกฤดูกาลโดยการเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันไป

การเตรียมกระชังบกสำหรับการใช้เพาะพันธุ์กบ

         การเตรียมกระชังบกสำหรับเพาะพันธุ์นั้นเหมาะสำหรับมือใหม่ที่เริ่มเพาะพันธุ์กบหรืออยากประหยัดงบประมาณนั่นเองโดยการใช้กระชังบกนั้นจะง่ายตรงที่เราจะวางบริเวณไหนก็ได้ทำความสะอาดก็ง่ายดูแลง่าย

         แต่ถ้ามีบ่ออยู่ซีเมนต์อยู่แล้วก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เหมือนกัน โดยพื้นที่ที่จะติดตั้งกระชังบกนั้นจะต้องดูแลได้ง่าย เปลี่ยนถ่ายน้ำได้สะดวก ไม่มีสัตว์ที่คอยรบกวนการผสมพันธุ์กันของกบ เช่น หมา แมว และเสียงรบกวน เสียงรถวิ่ง เสียงเครื่องจักรทำงาน

         เมื่อเราพอรู้แล้วว่าควรจะติดตั้งกระชังบกในบริเวณไหนมาดูวิธีการเตรียมกระชังบกก่อนที่จะนำไปใช้เป็นบ่อเพาะพันธุ์กบกัน 

  • ก่อนนำมากระชังบกมาใช้งานนั้น ต้องล้างทำความสะอาดก่อนถ้ากระชังบกเก่าใช้แปรงขัดคราบตะไคร่ เมือกที่เกาะตามขอบกระชังบกออกเทน้ำเก่าทิ้งก่อน ถ้ากระชังบกใหม่ล้างพลาสติกให้สะอาดหรือให้ไม่มีกลิ่นพลาสติก
  • ใส่น้ำไประดับนึง แล้วใช้ด่างทับทิม ใส่ลงไปในบ่อพอให้น้ำมีสีชมพู ทิ้งไว้ประมาณ 30นาที – 1 ชั่วโมงก็เพียงพอ แต่อย่าใส่เยอะจนเกินจนน้ำเป็นสีม่วงอาจทำให้เกิดสารตกค้างอยู่ภายในบ่อได้
  • เมื่อครบเวลาให้ทำการล้างออกให้สะอาด ไม่ให้เหลือด่างทับทิมอยู่ในบ่อกระชังบก การทำแบบนี้จะช่วยฆ่าเชื้อโรคที่ตกค้างอยู่ในบ่อ ซึ่งถ้าไม่ได้ล้างบ่อให้สะอาดอาจจะส่งผลต่อไข่กบที่พึ่งคลอดออกมา อาจจะทำให้ไข่ฝ่อไม่ฟัก หรือ เกิดมาไม่แข็งแรงก็ได้

กระชังบกเลี้ยงกบ

  • เมื่อทำความสะอาดแล้วให้นำน้ำมาเติมจะเป็นน้ำบาดาลที่ผ่านการพักน้ำแล้ว หรือ จะเป็นน้ำประปาก็ได้ แต่ต้องเป็นน้ำที่พักให้คลอรีนระเหยออกจากน้ำแล้ว การเติมน้ำควรให้อยู่ในระดับประมาณ5 – 10เซนติเมตรขึ้นอยู่กับขนาดของกบตัวเมีย ให้ขาหลังแตะพื้นอยู่ตลอด ซึ่งถ้าน้ำสูงเกินไปเวลากบตัวผู้มาโอบรัดกบตัวเมียอาจทำให้กบตัวเมียเหนื่อยง่ายก่อนผสมพันธุ์ และกบตัวเมียต้องใช้ขาหลังแตะพื้นตลอดเพื่อปล่อยไข่ออกมาผสมกับน้ำเชื้อของตัวผู้

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กบเพื่อนำมาขยายพันธุ์

         เมื่อเราเตรียมกระชังบกที่พร้อมลงพ่อแม่พันธุ์แล้ว การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กบเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของไข่ที่ออกมา พ่อแม่พันธุ์ที่ดีจะให้ลูกกบที่สุขภาพแข็งแรง และมีลักษณะทางพันธุกรรมที่ดี

         โดยการใช้พ่อแม่พันธุ์ห้ามใช้คอกเดียวกันหมายถึงห้ามใช้พ่อแม่พันธุ์ที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกันการผสมพันธุ์อาจทำให้เลือดชิดได้ซึ่งจะส่งผลต่อลูกกบที่ออกมาอาจจะไม่แข็งแรงและพิการได้

         ควรเลือกพ่อแม่พันธุ์จากหลายๆคอกมาผสมซึ่งจะทำให้ลูกกบที่ออกมาแข็งแรง และยังสามารถใช้พ่อแม่พันธุ์ผสมพันธุ์ได้หลายรอบ เช่นการใช้แม่พันธุ์เป็นกบจาน ใช้พ่อพันธุ์เป็นกบนา ซึ่งกบจานจะตัวใหญ่แต่ไม่ค่อยแข็งแรงแต่ได้กบนามาเสริมเรื่องความแข็งแรงทนต่อโรค เมื่อลูกออกมาจะตัวใหญ่ เนื้อเยอะแข็งแรงทนต่อโรค ขายได้ราคาดี เรามาลองดูวิธีคัดพ่อแม่พันธุ์กบกันก่อน

  • แม่พันธุ์ จะต้องมีอายุประมาณ 1 ปีไข่จะพร้อมผสมพอดีในการทำแม่พันธุ์กบ
  • ตัวเมียจะไม่มีกล่องเสียงใต้ปาก
  • ตัวจะอ้วนใหญ่เพราะมีไข่อยู่ด้านในข้างลำตัวเวลาเราสัมผัสจะรู้สึกหยาบ สากมือ เหมือนกระดาษทราย นั่นหมายความว่าแม่พันธุ์ตัวนี้พร้อมผสมใช้เพาะพันธุ์แล้ว
  • พ่อพันธุ์จะต้องมีอายุ 1 ปีเหมือนกันจึงจะพร้อมใช้ผสมพันธุ์
  • ตัวผู้จะมีกล่องเสียงสีดำใต้คาง และร้องเรียกตลอดเวลานั่นหมายถึงพร้อมผสมพันธุ์แล้ว
  • ตัวผู้จะเล็กกว่าตัวเมีย
  • วิธีเช็คแน่ๆว่าตัวผู้นั้นพร้อมผสมพันธุ์ก็คือ ใช้นิ้วของเรา สอดไประหว่างขาหน้าทั้งสองของกบถ้ากบรัดนิ้วของเรานั่นก็หมายความว่ากบตัวนั้นพร้อมผสมพันธุ์แล้ว เพราะการที่กบรัดนิ้วของเรานั่นคือการที่เขาจะใช้มือรัดช่วงลำตัวของกบตัวเมียตอนผสมพันธุ์นั่นเอง
  • สิ่งสำคัญพ่อแม่พันธุ์ที่จะนำมาใช้ห้ามมีบาดแผลตามลำตัวตามนิ้ว นิ้วมือนิ้วเท้าต้องครบทุกนิ้ว ผังผืดนิ้วไม่ฉีก ไม่มีร่องรอยเปื่อย กบจะต้องสมบูรณ์ดีที่สุดไม่มีโรค ซึ่งอาจจะส่งผลต่อลูกที่เกิดมามีโอกาสรอดน้อย

ดูเพศกบ

เลี้ยงกบ  พื้นที่น้อยก็เลี้ยงได้ โตไว สร้างรายได้ดี : อ่านเพิ่มเติม

ขั้นตอนการเพาะพันธุ์กบตามฤดูกาล

  • สภาพอากาศที่ใช้ผสมพันธุ์จะต้องช่วงฝนตกใหม่ๆ หรือ ฝนตกมาเป็นระยะๆอาจจะตกเมื่อ 1วัน 3วันให้หลังก็ได้ หรือ ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ไป จนถึงเดือนกันยายน
  • เมื่อเตรียมกระชังบกสำหรับเพาะพันธุ์แล้ว หาผักลอยน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวามาลอยอยู่ในกระชัง เพื่อเพิ่มบรรยากาศของกบได้ ที่สำคัญน้ำต้องใหม่เหมือนจำลองน้ำตอนฝนตกใหม่ๆ

เทคนิคเพาะพันธุ์กบ

  • กบพ่อแม่พันธุ์จะต้องเป็นกบที่แยกกันเลี้ยงอย่างน้อย 3 เดือนเพื่อเพิ่มความอยากในการผสมพันธุ์
  • ในการผสมพันธุ์กบในบ่อนึง ขนาดกระชัง 2×3 แนะนำอยู่ที่ ตัวเมีย 8-10 ตัว ตัวผู้ 10-15 ตัว (ถ้ามีตัวผู้มากพอ) ต่อ1กระชังทำการคัดพ่อแม่พันธุ์กบมาในอัตราส่วน กบตัวเมีย 1 ตัว ต่อ ตัวผู้ 2 ตัว เพื่อเพิ่มอัตราการผสมพันธุ์ในกรณีที่มีตัวผู้ไม่ได้จับคู่ผสม หรือ ให้กบแย่งกันผสมพันธุ์ก็จะเพิ่มโอกาสได้ดี
  • ในการปล่อยลงบ่อควรปล่อยในช่วงเวลาเย็นประมาณ 5โมงเย็น จะปล่อยตัวผู้หรือตัวเมียก่อนก็ได้ แต่ในธรรมชาติตัวผู้จะเป็นผู้ที่ร้องหาตัวเมียให้เราปล่อยตัวผู้ลงไปก่อนเพื่อทำความคุ้นชินกับบ่อแล้วปล่อยตัวเมียลงไปตามก็ได้
  • ในช่วงเวลามืด 6 โมงเย็น – 3 ทุ่ม กบก็จะจับคู่กันเรียบร้อยแล้วให้สังเกตจากการที่กบตัวผู้ขึ้นไปโอบรัดกบตัวเมีย
  • เมื่อพบว่ากบได้จับคู่กันเรียบร้อยแล้วก็รอเวลาที่กบจะผสมพันธุ์โดยจะอยู่ที่ช่วงเวลาประมาณตี2 – ตี5ระหว่างนั้นถ้าฝนตกพอดีก็จะเพิ่มโอกาสที่กบจะยิ่งอยากผสมพันธุ์เข้าไปอีกอาจส่งผลถึงไข่ที่ออกมาอาจออกมาเยอะกว่าปกติเพราะช่วงเวลาปล่อยไข่มาผสมจะนานขึ้นอาจจะยาวนานถึง 8โมงเช้าเลย โดยไข่ที่ออกมานั้นเกิดจากการกบตัวผู้ไปโอบรัดกบตัวเมียให้ปล่อยไข่ออกมาผสมกับน้ำเชื้อของกบตัวผู้
  • เช้าของอีกวันสักช่วง 7 – 8 โมงเช้าให้ลองสังเกตว่ามีแพไข่กบเกาะอยู่ภายในกระชังบกไหมถ้ามีให้รีบจับแยกกบพ่อแม่พันธุ์ทันทีเพื่อป้องกันการทำแพไข่แตกออกจากกัน ในกรณีที่ไม่มีไข่ซึ่งไม่เกิดการผสมพันธุ์กันจับแยกพ่อแม่พันธุ์อีกสัก 1 สัปดาห์แล้วลองจับมารวมกันใหม่ก็จะมีไข่ที่มีการผสมพันธุ์พร้อมฟักให้เราเอง

การขยายพันธุ์กบ

  • พ่อแม่พันธุ์ที่ได้ทำการแยกนั้นสามารถจับมาเพาะพันธุ์ได้อีก 15 วันโดยประมาณในช่วงฤดูผสมพันธุ์ของกบให้รีบจับมาเพาะพันธุ์โดยใน 1 ปีกบสามารถจับคู่ผสมพันธุ์ได้ 6 – 8 ครั้งเลยทีเดียว อยู่ที่การเลี้ยง การดูแลกบ การควบคุมอุณหภูมิให้ดี เลี้ยงดีกบก็ให้ไข่เยอะ ไข่บ่อย แต่ไม่แนะนำให้ใช้แม่พันธุ์ที่อายุเกิน2ปีเยอะเนื่องจากจะได้ไข่ที่น้อย ลูกกบโตมาไม่แข็งแรง ตายง่าย พ่อพันธุ์เต็มที่ก็1-2ปีก็เปลี่ยนตัวใหม่เนื่องจากกบที่เกิดมากบเพศผู้จะเยอะกว่ากบเพศเมียจึงสามารถเวียนใช้ได้หลายตัว
  • ในการใช้พ่อแม่พันธุ์กบมาเพาะพันธุ์ในครั้งที่2 เป็นต้นไปนั้น กบจะมีโอกาสให้ไข่เยอะกว่าการผสมพันธุ์ในรอบแรก แต่จะให้ไข่คงที่อยู่ในช่วงการผสมพันธุ์ในครั้งที่ 2 เป็นต้นไป วิธีการนับช่วงผสมพันธุ์ก็คือปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม ครั้งที่ 1 ทำอีกครั้งในช่วง ท้ายเดือนมีนาคม หรือ ต้นเดือนเมษายน ครั้งที่ 2 และในท้ายเดือนเมษายน หรือ ต้นเดือนพฤษภาคม ครั้งที่ 3 กบจะจับคู่กันได้จนกว่าจะหมดฤดูฝน ถ้ามีพื้นที่เลี้ยงก็สามารถทำตามได้เลยเพรากบจะไข่ได้ดีในช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์มีพื้นที่เยอะก็สามารถใช้กระชังบกทำพื้นที่เพาะพันธุ์ได้เยอะเช่นกัน

การดูแลไข่กบจากการเพาะพันธุ์กบ

  • การดูไข่กบตัวเมียก่อนเกิดการผสมกับน้ำเชื้อของกบตัวผู้จะมีสีขาวปนดำ ถ้าได้รับการผสมกันของน้ำเชื้อไข่จะกลายเป็นสีดำในครึ่งชั่วโมง ไข่ฟองไหนที่ขาวล้วนลอยเป็นก้อนนั้นหมายถึงไข่ฝ่อไข่ทิ้ง ซึ่งอาจเกิดได้เยอะในการผสมพันธุ์กันครั้งแรกของกบใหม่
  • จับแยกพ่อแม่พันธุ์ออกก่อนเพื่อป้องกันการว่ายไปตีไข่จนแตกแพออกจากกัน และป้องกันไข่ได้รับความเสียหายจากการว่ายน้ำของพ่อแม่พันธุ์กบ
  • ในการฟักตัวของไข่กบนั้นจะอยู่ที่ 24 – 48 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศถ้าอากาศเย็นช่วงฝนตกก็จะฟักออกมาเป็นตัวช้ากว่าอากาศร้อนแดดจัด

การดูแลไข่กบ

การอนุบาลลูกกบ

  • เมื่อไข่ได้ฟักเป็นลูกอ๊อดแล้วในช่วงอาทิตย์แรกอย่าพึ่งเปลี่ยนถ่ายน้ำให้ระวังอย่าทำน้ำเน่าเสียเนื่องจากลูกอ๊อดที่พึ่งเกิดอยู่ในช่วงปรับตัวถ้าเปลี่ยนอาจเกิดการน็อคน้ำตายได้
  • ลูกอ๊อดจะอยู่ได้ 2 วันโดยไม่ต้องให้อาหารเนื่องจากยังมีไข่แดงอยู่ที่ตัวลูกอ๊อดเพื่อเลี้ยงตัวเองอยู่

ลูกอ๊อดกบนา

  • เมื่อเข้าวันที่ 3 ให้นำอาหารมาให้ลูกอ๊อดโดยจะใช้ไข่แดงต้มสุก หรือ ไข่ตุ๋นก็ได้ โปรตีนที่เหมาะสมจะช่วยให้ลูกอ๊อดเจริญเติบโตไว อย่าให้อาหารเยอะจนเกินไปน้ำจะเสียง่ายลองค่อยๆให้ดู คาคคะเนตามจำนวนของลูกอ๊อดการให้ไข่แดงต้มสุกให้อาทิตย์นึงก็พอ แล้วเปลี่ยนไปให้เป็นอาหารเม็ดไฮเกรดสำหรับลูกอ๊อด โปรตีน 40%
  • ในการให้อาหารลูกอ๊อดควรให้ในเวลาเช้ากับช่วงเวลา 4-5 โมงเย็นกำลังดีถ้ามีเวลาจะให้อีกทีช่วง 2 ทุ่มก็ได้ ถ้ามีเวลามากพอก็ให้ 3- 4 มื้อต่อวันก็ดี จะเป็นช่วงเช้าไม่เกิน8โมง ช่วงเที่ยง ช่วงเย็น4-5โมงเย็น อีกช่วงเวลา 2 ทุ่ม
  • ในการเลี้ยงกบต้องอาศัยแสงแดดเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตที่ดี ถ้าวางในที่ร่มไม่โดนแดดควรขยับมาโดนแดดอย่างน้อย 10%ของกระชังบกแต่อย่าโดนแดดจัดจนเกินไปให้ใช้สแลนกันแดดช่วยพรางแสงแดดช่วยลดความร้อนได้ดี
  • การเปลี่ยนถ่ายน้ำครั้งแรกรอให้ครบอาทิตย์ก่อน หรือ เมื่อสังเกตจากลูกอ๊อดแข็งแรงกินอาหารได้ดีแล้วค่อยเปลี่ยนน้ำในการเปลี่ยนถ่ายน้ำในแต่ละครั้ง ควรเติมน้ำให้อยู่ในระดับ 20 – 30 เซนติเมตรก็เพียงพอ ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายทั้งหมด ค่อยๆปล่อยน้ำใหม่ผสมน้ำเก่าแล้วถ่ายออกป้องกันการน็อคน้ำของลูกอ๊อด เมื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำครั้งต่อไปให้สังเกตจากสีของน้ำเริ่มขุ่ม ส่งกลิ่นเหม็น ถ้าใช้กระชังบกเปลี่ยนทุกวันยิ่งดีถ้าไม่มีเวลา เต็มที่ 3-4  วันเปลี่ยนครั้งนึงก็ได้
  • เมื่อลูกอ๊อดอายุครบ 20-30 วันบางตัวขาจะเริ่มงอกออกมาแต่ยังเหลือหางไว้อยู่ให้เราหาโฟม แผ่นยาง ที่มีพื้นที่มากพอมาใส่ในกระชังบกเพื่อให้ลูกกบที่มีขางอกได้ขึ้นมาอยู่ข้างบนตัวไหนที่มีขาแต่หางยังไม่หายก็เสี่ยงที่จะโดนตัวอื่นๆไล่กัดหางทำให้เป็นแผลติดเชื้อและตายได้เราจึงต้องหาของลอยน้ำมาให้กบเหล่านี้อาศัยอยู่
  • ถ้ามีพื้นเลี้ยงบวกกับมีเวลาพอให้ทำการคัดขนาดกบอยู่เป็นประจำเพื่อป้องกันการโดนกัดกินกันเอง การกัดกันของกบมีได้ทุกขนาดตั้งแต่ลูกอ๊อดยันกบโตซึ่งถ้ากบตัวที่เล็กกว่าจะโดนกัดกินเป็นเรื่องธรรมดาของกบที่เลี้ยงรวมกัน

คัดขนาดตัวกบ

  • กบจะโตครบสมบูรณ์โดยขาหน้า ขาหลังงอกออกมาแล้วหางจะหดหาย เมื่อกบอายุประมาณ 40 วัน แล้วตัวไหนที่หางยังอยู่ให้คัดแยกออกเพื่อป้องกันการโดนกัดกินบริเวณหางเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
  • เมื่อเป็นกบเล็กไปจนถึงกบโตเต็มวัยให้อาหารวันละ 2 มื้อ เช้ากับเย็นก็เพียงพอแล้ว
  • ระยะเวลาการเลี้ยงกบเพื่อนำไปจำหน่ายหรืออุปโภคบริโภคภายในครัวเรือน ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน กบก็จะมีเนื้อมากพอที่จะใช้จำหน่ายเป็นกิโลกรัม หรือ นำไปประกอบอาหารก็ได้ ก่อนนำกบไปขายให้ทำการงดอาหารก่อนเพื่อป้องกันการตายระหว่างขนส่งได้

อาหารกบ

ขั้นตอนการเพาะพันธุ์กบนอกฤดูกาล

         ในการเพาะพันธุ์กบนอกฤดูกาลนั้นหมายถึงการที่เราอยากผสมพันธุ์กบในช่วงฤดูร้อน ในช่วงที่ไม่มีฝนตกเลยแต่อยากผสมพันธุ์กบโดยวิธีการก็คล้ายกับการเพาะพันธุ์กบตามฤดูกาลเลย เพียงแต่จะมีวิธีการจำลองบรรยากาศเพิ่มเข้ามานั่นเอง

จำลองการผสมพันธุ์กบ

  • ที่บ่อน้ำ หรือ กระชังบกใช้ต้องล่างฆ่าเชื้อให้สะอาดด้วยด่างทับทิม
  • น้ำที่ใช้เติมลงบ่อเพาะพันธุ์กบต้องใช้น้ำใหม่จะเป็นน้ำบาดาล หรือ น้ำประปาที่พักไว้แล้วก็ได้ เติมลงไป 5-10 เซนติเมตร
  • ใส่พืชน้ำจำพวกผักตบชวา ผักบุ้ง ลงไปภายในกระชังบกด้วย
  • ให้เรานำสายยางติด สปริงเกอร์มาไว้ด้านบนกระชังบกที่จะใช้เพาะพันธุ์เพื่อใช้จำลองฝนตกลงภายในบ่อพร้อมติดตั้งท่อน้ำล้นในกระชังบกเพราะต้องเปิดสปริงเกอร์เพื่อจำลองฝนตกเป็นบางช่วงเพื่อป้องกันน้ำสูงจนเกินไปควรจะติดตั้งท่อน้ำล้นเผื่อไว้
  • ถ้ามีลำโพงเปิดเสียงฟ้าร้อง เสียงกบร้องก็จะดีมากเพื่อช่วยเพิ่มบรรยากาศได้
  • จับกบตัวผู้ที่มีลักษณะที่จะผสมพันธุ์โดยขาหน้าพร้อมรัดตัวเมีย มีกล่องเสียงชัดเจน จับลงบ่อเพาะพันธุ์ก่อนกบตัวเมียสัก 1-2 คืน พร้อมเปิดสปริงเกอร์น้ำจำลองฝนเป็นช่วงๆ
  • จับกบตัวเมียที่มีลักษณะที่จะผสมพันธุ์โดยต้องอ้วนไข่ ตัวใหญ่ แข็งแรง จับแยกบ่อก่อนอย่างพึ่งจับใส่รวมบ่อเพาะพันธุ์เลย พักไว้ 1-2 คืนเหมือนกบตัวผู้ และเปิดสปริงเกอร์น้ำจำลองฝนเป็นช่วงในเวลากลางคืน กลางวัน อย่างละ 1 รอบ รอบละ 1-2 ชั่วโมงให้กบรู้สึกว่าอยู่ในฤดูกาลผสมพันธุ์
  • เมื่อพักกบทั้งพ่อแม่พันธุ์ไว้เพื่อดูความพร้อมได้ 1-2 คืนแล้วให้นำกบตัวเมียลงบ่อเพาะพันธุ์ที่กบพ่อพันธุ์อยู่ ให้ปล่อยรวมในเวลาช่วงเย็นๆ
  • เมื่อปล่อยรวมกันในช่วงเย็นแล้วให้เปิดสปริงเกอร์จำลองฝนตกสัก 2 ชั่วโมง ถ้ามีลำโพงก็เปิดเสียงฟ้าร้องเสียงกบร้อง เพื่อสร้างบรรยากาศเพิ่มได้
  • เมื่อตกดึกให้ลองมาดูถ้ากบเริ่มจับคู่กันแล้วแสดงว่ารุ่งเช้ากบจะออกไข่ให้อย่างแน่นอน
  • ถ้ากบไข่แล้วให้นำพ่อแม่พันธุ์แยกออกจากกันพักไว้ 2 – 3 อาทิตย์ ก็สามารถนำมาผสมพันธุ์ได้อีกครั้ง

สรุปเรื่องการเพาะพันธุ์กบ

         การเพาะพันธุ์กบสามารถทำได้ง่ายถ้ามีพ่อแม่พันธุ์ที่พร้อมจะผสมพันธุ์กันจะมีแค่2คู่ 3คู่ก็ทำได้โดยวิธีจะเพาะพันธุ์ตามฤดูกาลผสมพันธุ์ หรือ จะนอกฤดูกาลผสมพันธุ์ก็ได้เช่นกัน

         แต่การผสมพันธุ์กันในครั้งแรกอาจให้ลูกที่ออกมาไม่เยอะไข่ฝ่อไข่ทิ้งจะเยอะก็เป็นเรื่องปกติของกบพ่อแม่พันธุ์มือใหม่ แต่ครั้งต่อๆไปไข่ก็จะเยอะแน่นอนซึ่งการไข่ในแต่ละครั้งจะตกอยู่ที่ 800 – 1000ฟองเลยทีเดียว

         ซึ่งการเลี้ยงกบสามารถสร้างรายได้ให้เราได้ตั้งแต่ยังเป็นลูกอ๊อด ไปจนถึงกบเล็ก กบโตเต็มวัยสู่กบที่พร้อมผสมพันธุ์ก็สามารถขายได้เสมอ ถ้าเหลือจากการขายก็คัดตัวสวยๆเก็บไว้ทำพ่อแม่พันธุ์เพื่อรอขยายพันธุ์ในรอบถัดไป และยังสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารกินภายในครัวเรือนได้อีกด้วย

ประสบความสำเร็จ

Scroll to Top