ผู้ผลิต-จัดจำหน่ายสินค้าการเกษตรตราคนยิงธนู

ผู้ผลิต-จัดจำหน่ายสินค้าการเกษตรตราคนยิงธนู

ผู้ผลิต-จัดจำหน่ายสินค้าการเกษตรตราคนยิงธนู

กระชังบกเลี้ยงกบ

กระชังบกเลี้ยงกบ พื้นที่น้อยก็เลี้ยงได้ โตไว สร้างรายได้ดี

         การใช้กระชังบกเลี้ยงกบเป็นวิธีที่สามารถสร้างรายได้ได้ง่ายต้นทุนน้อย สามารถเป็นอาชีพเสริมได้ หรือถ้าจะต่อยอดเป็นอาชีพหลักในการหารายได้ก็ได้เช่นกัน แต่ราคากบก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา

         ต้องศึกษาตลาดที่จะรับซื้อให้ดี โดยการเลี้ยงกบในกระชังบกเป็นการเลี้ยงที่ใช้พื้นน้อย ไม่จำเป็นต้องขุดบ่อหรือก่อบ่อซีเมนต์ขึ้นมาใหม่ จะใช้พื้นที่ตรงส่วนไหนก็ได้ในการเลี้ยงกบ เพราะขนาดกระชังบกสามารถซื้อได้ตามขนาดที่เราต้องการ

         จะเคลื่อนย้ายกระชังบกเปลี่ยนกระชังบก หรือ ขยายเพิ่มจำนวนกระชังบกเลี้ยงกบก็ทำได้ง่ายๆ สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง แต่การเลี้ยงกบในกระชังบกก็ต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำอยู่เป็นประจำ

         เนื่องจากบ่อเป็นพลาสติกเกิดการตกตะกอนของเศษอาหาร ของเสีย เกิดตะไคร่ ได้ง่าย ซึ่งน้ำไม่ได้มีการถ่ายเทตลอดหรือมีจุลินทรีย์ช่วยย่อยเหมือนการเลี้ยงในกระชังน้ำหรือบ่อดิน จึงต้องหมั่นสังเกตดูแล เพื่อสุขภาพที่ดีของกบ

กบที่นิยมนำมาเลี้ยงเพื่อการบริโภคในประเทศไทย

         กบที่นิยมเลี้ยงส่วนมากจะเป็นกบที่มีเนื้อเยอะเรียกกบเนื้อเช่น กบนาพบได้ตามท้องนา ตามแหล่งน้ำทั่วไปนิยมเพาะเลี้ยงเพื่อการบริโภคในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก กบจานก็เช่นกัน หรือจะเป็นกบอเมริกันบลูฟร็อก

         เป็นกบที่ไม่ได้อาศัยอยู่ตามพื้นเมืองในประเทศไทยแต่อาจจะไม่ได้ถูกบริโภคมากนักเนื่องจากมีราคาแพง เนื้อไม่อร่อยเท่ากบนา จึงนิยมเลี้ยงไว้ผสมพันธุ์กับกบนาบ้านเราเพราะกบอเมริกันบลูฟร็อกเป็นกบเนื้อเยอะตัวใหญ่น้ำหนักดี

         จึงเน้นการผสมสายพันธุ์ให้กบนาที่เพาะเลี้ยงในบ้านเราพัฒนาสายพันธุ์ให้ตัวใหญ่เนื้อเยอะจะขายได้ราคาดี โดยกบอเมริกันบลูฟร็อกนิยมเลี้ยงไว้เป็นสัตว์Exoticสำหรับคนชอบสัตว์ประเภทนี้ซะมากกว่า

กบเนื้อ

         โดยกบนาเป็บกบที่มีราคาถูกหาได้ง่ายตามแหล่งซื้อขายทั่วไปโตไวขายไว กบนาราคาต่อตัวถ้าสนใจรับมาเพาะเลี้ยง อายุ1เดือนจะราคาตัวละไม่กี่บาท หรือถ้าต้องการลูกอ๊อดส่วนมากตามแหล่งซื้อขายจะขายกันเป็นกิโลซึ่งราคาก็จะหลักสิบถึงหลักร้อยต่อกิโลขึ้นอยู่กับราคาปลีก หรือราคาส่ง

         แต่ในเรื่องของจำนวนการซื้อลูกอ๊อดจะได้จำนวนที่มากกว่าการซื้อกบที่โตแล้วแน่นอน และราคาก็ถูกกว่าเช่นกันแต่ระยะเวลาในการเลี้ยงกบก็จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วยนั่นเอง

มาทำความรู้จักกับกบนาในประเทศไทยกัน

         โดยกบนาเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ตามธรรมชาติสามารถพบได้ทั่วไปตามพื้นที่ทำนา ตามแหล่งน้ำทั่วไปโดยกบนามีลักษณะดังนี้

  • มีลำตัวป้อม หนา
  • หัวมีลักษณะคล้ายรูปทรงสามเหลี่ยมค่อนข้างแบน
  • ตาโปน กลมโต มีเปลือกตาเนื้อเยื่อบางๆ
  • มีรูจมูกบริเวณปาก
  • ปากกว้าง
  • ผิวหนังขรุขระมีรอยย่น
  • ผิวด้านหลังมีสีน้ำตาลจุดดำ ความเข้มของสีผิวกบขึ้นอยู่กับสภาพน้ำที่อยู่อาศัย
  • กบนาตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย หรือเมื่อทำการจับหงายท้องตัวผู้จะมีกล่องเสียงสีดำอยู่ใต้ปากล่าง แต่ตัวเมียจะไม่มี
  • ช่วงท้องตัวเมียจะอ้วนใหญ่กว่าตัวผู้ เนื่องจากเป็นจุดเก็บไข่
  • โตเต็มที่หนัก 200 – 400กรัม

เลี้ยงกบ

         แต่ในธรรมชาติกบนาไม่ได้มีจำนวนให้จับมากพอในปัจจุบัน ที่จะนำมาบริโภคหรือเพื่อจำหน่าย เกษตรกรบ้านเราจึงนำมาเพาะเลี้ยงง่ายต่อการควบคุมปริมาณ และยังสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้กบนาแข็งแรงขึ้น ตัวใหญ่ เนื้อเยอะ ออกลูกเยอะ

         ขึ้นอยู่กับการนำสายพันธุ์อื่นมาผสม เช่น กบอเมริกันบลูฟร็อกผสมกับกบนา ทำให้กบในประเทศไทยที่เพาะเลี้ยงมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น เนื้อเยอะ น้ำหนักดีทำให้การส่งขายได้ราคาดีไปด้วยเพราะกบไทยมีเนื้อที่อร่อย

         การเลี้ยงกบในประเทศไทยจึงกลายเป็นเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่จะทำเป็นอาชีพเสริมช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือ จะเน้นทำเป็นอาชีพหลักก็ได้เช่นกัน แต่ควรที่จะศึกษาตลาดที่จะรับซื้อให้ดีก่อนลงทุนว่าคุ้มค่ากับการเลี้ยงมากน้อยแค่ไหน

การเจริญเติบโตของกบในแต่ละช่วงวัย

วัฏจักรกบ

  • ระยะไข่ มีลักษณะ เม็ดกลมขาวเหมือนวุ้น ด้านในไข่มีจุดสีดำปนอยู่ ไข่จะเกาะกันเป็นกลุ่มก้อนลอยอยู่บนน้ำ ตัวอ่อนจะฟักออกมาเมื่อไข่แดงหมด หรือประมาณ 36 ชั่วโมงอย่างมากนับตั้งแต่แม่กบไข่ออกมา
  • ระยะลูกอ๊อด มีลักษณะ คล้ายลูกปลาแต่หัวโตหางยาวลีบแหลม ตัวสีดำสนิท อายุประมาณ15 – 20 วันจะเริ่มมีขาหลังงอกออกมา อายุประมาณ 25-30 วันจะเริ่มมีขาหน้า หางจะเริ่มหดลง
  • ระยะลูกกบ เป็นระยะที่พัฒนาเป็นกบได้เกือบเต็มตัว เริ่มใช้ปอดในการหายใจแทนการใช้เหงือก หางเริ่มหดหายไป แต่ยังไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้
  • ระยะโตเต็มวัย หางจะหายไป มีขาหน้า ขาหลังสมบูรณ์ หายใจทางปอด และ ทางผิวหนัง อาศัยอยู่บนบก และ ในน้ำได้เป็นอย่างดี กบโตเต็มวัยที่สามารถผสมพันธุ์กันได้จะมีอายุอยู่ที่ 1 ปีจึงจะถือว่าเป็นพ่อแม่พันธุ์

การใช้กระชังบกเลี้ยงกบเพื่อหารายได้

         กระชังบกสามารถเลี้ยงสัตว์น้ำได้หลากหลายชนิด แต่ที่ยกมาวันนี้จะเป็นวิธีเลี้ยงกบในกระชังบก เป็นอุปกรณ์เลี้ยงกบที่สะดวก ใช้งานง่าย สำหรับผู้ที่เริ่มเลี้ยงก็สามารถซื้อไปทดลองเลี้ยงก่อนได้

         ถ้าเริ่มมีความชำนาญก็ขยับขยายกระชังบกให้เพิ่มมากขึ้น ได้ต่อยอดทำเป็นธุรกิจอาจจะไม่ได้เลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพหลักในช่วงแรกแต่พอเริ่มจับทางตลาดได้ว่าต้องการกบขนาดไหน ต้องการกบในช่วงเวลาไหนมากที่สุดถึงจะขายได้ราคาดี

         ก็จะทำให้เราบริหารจัดการการเลี้ยงได้ว่ากบที่เลี้ยงตั้งแต่นำลงกระชังบก จะโตทันช่วงเวลาที่ตลาด ต้องการพอดี ต่อให้ขายไม่หมดก็สามารถเลี้ยงไว้เพื่อผสมพันธุ์เพาะพันธุ์ลูกกบไว้ขาย หรือ นำไปบริโภคภายในครัวเรือนก็ได้เช่นกัน

วิธีเลี้ยงกบ

การเพาะพันธุ์กบขั้นตอนง่ายๆในการเป็นเกษตรมือใหม่: อ่านเพิ่มเติม

ข้อดีของการใช้กระชังบกเลี้ยงกบ

  • บริหารจัดการดูแลง่าย ตั้งแต่ระยะลูกอ๊อด จนถึงระยะโตเต็มที่ สามารถเช็คจำนวนประชากรกบได้ตลอดว่ามีตัวไหนตาย ตัวไหนป่วยทำให้แยกออกมาได้ทันที
  • สามารถขยายกระชังบกที่จะเลี้ยงได้ตลอด เช่นกระชังบกเอาไว้เพาะพันธุ์แยกกับกระชังบกที่เลี้ยงกบรวม ใช้งานง่าย ติดตั้งง่าย
  • จัดสรรพื้นที่ในการเลี้ยงได้ง่ายมีพื้นที่เท่าไหร่ ขนาดไหนก็สามารถหากระชังบกตามขนาดที่ต้องการใช้ได้เลย
  • ประหยัดต้นทุนในการทำบ่อเลี้ยงเพราะกระชังบกมีราคาที่ไม่แพงถ้าเทียบกับคุณภาพตลอดการใช้งานอย่างต่ำก็ 2 ปี ซึ่งทำให้เราสามารถส่งขายได้หลายคอกคืนทุนแน่นอน

กระชังบก

  • เลี้ยงง่าย โตไว กบมีการเจริญเติบโตที่ไวจะได้โตทันช่วงจำศีลในฤดูหนาว โดยแต่ละรุ่นจะมีอายุราว 90 – 120 วันก็โตเต็มที่สามารถนำส่งขายได้
  • กระชังบกสามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้สะดวก รวดเร็ว ช่วยป้องกันโรคในกบได้ดี ควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมได้ง่าย

ดูวิธีติดตั้งท่อระบายน้ำกับกระชังบก : อ่านเพิ่มเติม

การเลือกสถานที่ก่อนทำการเลี้ยงกบ

         การเลี้ยงกบเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะกบเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ขายได้ราคาดี และมีตลาดรองรับมากมาย แต่ก่อนที่จะเริ่มเลี้ยงกบ

         เกษตรกรควรเลือกสถานที่ติดตั้งกระชังบกเลี้ยงกบให้เหมาะสม เพราะสถานที่ที่เหมาะสมจะส่งผลต่อสุขภาพกบ ทำให้กบไม่เครียดเจริญเติบโตได้เต็มที่

โดยมีปัจจัยดังนี้

  • เลือกสถานที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีโดนแดดบ้างเป็นบางเวลาเนื่องจากแดดก็เป็นส่วนสำคัญให้กบโตไวขึ้น
  • ไม่ติดตั้งใกล้ถนนจนเกินไปเนื่องจากจะมีเสียงรบกวนจากรถอยู่ตลอดเวลาทำให้กบพักผ่อนได้น้อย โตช้าจากความเครียด
  • ควรติดตั้งใกล้บริเวณบ้านก็จะดีที่สุดเนื่องจากจะได้คอยดูแลอยู่ตลอดเวลา และป้องกันปัญหาสัตว์นักล่าเข้าไปยังภายในกระชังบกเลี้ยงกบได้อีกด้วย

สถานที่สงบ

  • พื้นที่ทำการเลี้ยงจะต้องสูงกว่าระดับน้ำในบริเวณนั้นเพื่อป้องกันปัญหาเวลาน้ำท่วมเข้าไปในกระชัง
  • พื้นที่ที่จะทำการติดตั้งกระชังบกเลี้ยงกบควรเป็นพื้นที่ราบระดับเท่ากัน เพื่อป้องกันปัญหาการรับน้ำหนักของกระชังบกเวลาใช้งาน เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น
  • มีแหล่งน้ำที่สามารถใช้ได้ตลอดทุกครั้งที่เปลี่ยนถ่ายน้ำให้กบ ถ้าใช้น้ำประปาโดยตรงแนะนำให้มีถังพักน้ำก่อนนำมาใช้งาน เนื่องจากน้ำประปาบางที่มีคลอรีนที่สูงซึ่งไม่เป็นผลดีนักต่อเหล่าสัตว์น้ำ

วัสดุอุปกรณ์ในการใช้เลี้ยงกบในกระชังบก

  • กระชังบก อุปกรณ์สำคัญสำหรับการเลี้ยงกบ
  • ชุดท่อปล่อยน้ำทิ้งกระชังบก สำหรับระบายน้ำทิ้งในกระชังบก
  • สแลนกันแดด สำหรับช่วยกรองแสงแดดไม่ให้ร้อนจนเกินไปและยังช่วยป้องกันนกที่จะมาโฉบกินกบในกระชัง
  • แผ่นยาง แผ่นโฟมสำหรับให้กบขึ้นมาจากน้ำเพื่อผักผ่อน
  • เชือกไนล่อน สำหรับขึงกระชังบก
  • ทราย ปูรองพื้นก่อนวางกระชังบก
  • พืชน้ำ ช่วยดูดของเสียบำบัดน้ำไปในตัว จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้
  • อาหารสำหรับกบ ในทุกช่วงอายุเพื่อที่จะได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ตามวัยของกบ

ทำงานง่ายขึ้น

วิธีเลี้ยงกบในกระชังบก

  • จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการติดตั้งกระชังบกเลี้ยงกบ เพื่อการเจริญเติบโตที่ดี
  • หาซื้อกระชังบกที่มีขนาดที่เหมาะสมต่อพื้นที่ที่จะทำการเลี้ยงกบ
  • ก่อนทำการติดตั้งกระชังบกควรใช้ทรายที่ปราศจากเศษแก้วปูพื้นก่อน เนื่องจากทรายจะช่วยซัพแรงกดทับได้ดีและยังปกป้องพื้นกระชังเวลาเข้าไปทำความสะอาดไม่ให้เกิดความเสียหาย และยืดอายุการใช้งานได้อีกด้วย
  • วางกระชังบกในพื้นที่ราบเรียบเสมอกัน
  • ติดตั้งท่อปล่อยน้ำทิ้งเพื่อการระบายน้ำที่ง่าย สะดวก

กระชังเลี้ยงกบ

  • นำกระชังบกล้างด้วยน้ำสะอาดจนกว่ากลิ่นพลาสติกจะหมดถ้าให้ดีใส่ด่างทับทิมแช่ไว้ 1 ชั่วโมงช่วยฆ่าเชื้อภายในกระชังบกแล้วล้างด่างทับทิมออกให้หมดก่อนใส่น้ำที่พร้อมจะเลี้ยงกบ ถ้าใช้น้ำประปาเลยแนะนำให้ทิ้งไว้ก่อนสัก 2 คืนก่อนนำกบมาลงในกระชังบก
  • ถ้าเลี้ยงตั้งแต่ระยะลูกอ๊อดให้เติมน้ำอย่างน้อย 10 เซนติเมตร หรือ เริ่มเลี้ยงตั้งแต่ระยะลูกกบให้เติมน้ำอย่างน้อย 5 เซนติเมตรกะระยะให้พอดีกับคอกบพ้นน้ำพอดี
  • การปล่อยลูกอ๊อด ลูกกบควรปล่อยในช่วงเช้าหรือเย็นเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่ร้อนป้องกันอาการน็อคน้ำได้
  • ภายในกระชังให้นำผักตบชวา หรือพืชลอยน้ำที่รับน้ำหนักกบได้ มาใส่พืชพวกนี้ช่วยดูดซัพของเสียของกบและยังช่วยบำบัดน้ำอีกด้วย ถ้าไม่สะดวกหาจะใช้แผ่นโฟมอัดหรือแผ่นยางรองเท้าที่ใช้กับบ่อกบก็ได้ เพื่อให้กบได้พักขึ้นมาบนบก และยังเป็นสถานที่ให้กบหนีจากการโดนกบตัวใหญ่ไล่กินได้อีกด้วยเลี้ยงกบในกระชังบก
  • การติดตั้งกระชังบกกลางแดดช่วยให้กบเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วยแต่ถ้าเกิดว่ากระชังบกเลี้ยงกบติดตั้งกลางแดดจนเกินไปให้ใช้สแลนกันแดดช่วยลดความร้อนจากแสงแดดได้เป็นอย่างดีตะไคร่ก็จะไม่เกิดขึ้นไวอีกด้วย
  • การถ่ายน้ำในกระชังบกเลี้ยงกบ ควรถ่ายอย่างน้อย วันละครั้งเนื่องจากจำนวนกบที่เยอะยิ่งเยอะยิ่งเกิดการสะสมของเสียทำให้การถ่ายน้ำในกระชังออกแล้วเติมเข้าไปใหม่ช่วยลดปริมาณของเสียภายในบ่อได้เป็นอย่างดี กบไม่เป็นโรคง่าย แข็งแรง โตไว หรือ ถ้าไม่สะดวกแนะนำให้สังเกตจากสีและกลิ่นภายในกระชัง ถ้าน้ำเริ่มเน่าของเสียสะสมเยอะจะส่งกลิ่น มีสีขุ่นดำให้รีบเปลี่ยนถ่ายน้ำออกทันทีเนื่องจากจะส่งผลต่อสุขภาพของกบในกระชังบกได้

สแลนกันแดด

การให้อาหารกบ

  • ระยะลูกอ๊อด 3-7วัน ระยะนี้ควรให้อาหารวันละ 3-4 มื้อต่อวันให้เป็นอาหารเม็ดที่เหมาะกับลูกกบละลายน้ำให้กิน หรือจะใช้ไข่ตุ๋นก็ได้เช่นกัน ให้แต่พอดีเพราะจะทำให้น้ำเสียไว เมื่อลูกอ๊อดมีอายุได้ตั้งแต่7-20 วัน ให้ฝึกกินอาหารเม็ดสำหรับลูกกบเม็ดเล็กชนิดลอยน้ำ ถ้าอาหารไม่มีโปรตีนผสมอยู่แนะนำผสมโปรตีน 40% ชนิดผงผสมลงไปในอาหาร
  • ระยะลูกกบ 20-40วัน ระยะนี้ควรให้อาหารวันละ 3 มื้อให้อาหารเม็ดลอยน้ำสำหรับกบโปรตีน 37% เมื่ออายุ 40 – 70 วัน ระยะนี้ควรให้อาหารวันละ 2 มื้อให้อาหารเม็ดลอยน้ำสำหรับกบโปรตีน 35%
  • ระยะกบโตเต็มที่ ระยะ 70 วันขึ้นไปพร้อมขาย ให้อาหารชนิดเม็ดลอยน้ำโปรตีน 30% อาหารกบใหญ่ระยะนี้ควรให้อาหารวันละ 2 มื้อ

ลูกกบ

ข้อระวังในการเลี้ยงกบ

  • เวลาเลี้ยงให้พยายามคัดขนาดกบอยู่ตลอด 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากกบเป็นสัตว์ที่ชอบกินสัตว์ที่เล็กกว่า งับเข้าปากได้กินหมด ดังนั้นเพื่อป้องกันการกินกันเองในกระชังบกควรคัดขนาดกบอยู่เป็นประจำถ้ามีตัวที่เล็กกว่าตัวอื่นๆให้คัดออกแยกที่เลี้ยง การกินกันเองเป็นได้ทุกระยะตั้งแต่ลูกอ๊อดจนกบโต
  • การให้อาหารหลังจาก 30 นาทีให้สังเกตว่ามีเหลือไหมถ้ามีแสดงว่ากบอาจกินไม่หมดในรอบหน้าให้ลองลดปริมาณดูเพื่อให้น้ำเสียช้าที่สุดและยังลดการเกิดโรคได้อีกด้วย
  • กบจะไม่ค่อยกินอาหารที่อยู่บนบกตามแพลอยตามพื้นโฟม กบจะกินดีเมื่ออาหารลอยอยู่ในน้ำ เวลากินกบชอบกระโดดงับอาหารเป็นปกติของกบนาเนื่องจากกบนามีขาหน้าที่สั้นและไม่มีคอให้ยื่นไปงับอาหารตามพื้น
  • กบจะสีเข้มสีอ่อนขึ้นอยู่กับน้ำที่เลี้ยงว่าน้ำใส-ขุ่นมากน้อยแค่ไหน ถ้าอยากให้กบสีสวยดูสะอาดหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สะอาดกบจะดูสดชื่น แข็งแรง
  • เมื่อพบกบป่วยให้แยกออกมารักษาแล้วให้เปลี่ยนถ่ายน้ำทันทีเพื่อป้องกันการติดโรคทั้งกระชังบก หรือ ถ้าพบว่ามีกบเกิดแผลบาดเจ็บให้แยกมารักษาให้หายดีก่อน
  • เมื่อพบกบตายให้กำจัดทิ้งทันทีจะฝังหรือเผาก็ได้เพื่อป้องกันการโดนกินแล้วเกิดการติดเชื้อโรคจากกบที่ตาย
  • น้ำที่ใช้เลี้ยงต้องมีเยอะพอเพราะน้ำที่ใช้เลี้ยงกบจะเสียง่ายจึงต้องเปลี่ยนถ่ายอยู่ทุกๆวัน หรือ สังเกต จากกลิ่น และสีของน้ำถ้าส่งกลิ่น สีขุ่นควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทันที

การดูแล

สรุป

         ศึกษาวิธีการเลี้ยงกบให้ดีจากหลายๆช่องทางเพื่อเป็นการตัดสินใจในการเลี้ยง ทั้งในด้านความพร้อมของสถานที่ อุปกรณ์ที่ต้องใช้เลี้ยง ทรัพยากรต่างๆที่ต้องใช้ งบประมาณที่ต้องใช้

         ศึกษาตลาดให้ดีถ้ามีตลาดรับซื้อตลอดก็น่าลงทุน แต่การเลี้ยงกบถ้าขายไม่หมดก็สามารถเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ขายได้สามารถสร้างรายได้ได้หลายช่องทาง ค่อยๆลองทำลองศึกษา

         รอบแรกที่เลี้ยงอาจจะยังไม่ได้กำไร รอบสอง รอบสามจับทางได้ก็อาจจะได้กำไรกลับมาขยายกิจการจนกลายเป็นอาชีพหลัก

ศึกษาวิธีการเลี้ยงกบ

Scroll to Top