พลาสติกคลุมวัชพืช มีกี่แบบ ใช้แบบไหนดี ต้องรู้ก่อนจะเลือกซื้อ
หลายๆคนคงกำลังหาซื้อพลาสติกคลุมวัชพืช เพื่อใช้สำหรับการกำจัดหญ้าไม่ให้หญ้าขึ้น แต่คงจะเลือกไม่ถูกว่างานลักษณะนี้ควรเลือกใช้พลาสติกคลุมวัชพืชแบบไหนดี แล้วในตลาดที่ขายมีแบบไหนบ้าง วันนี้เราเลยมาสรุปให้ฟังว่าการใช้งานพลาสติกคลุมวัชพืชมีแบบไหนบ้าง เนื้อวัสดุแต่ละแบบเป็นอย่างไร ใช้งานยังไงถึงจะเหมาะสม
พลาสติกคลุมวัชพืชจะเป็นชื่อที่เรียกสินค้าตามการใช้งาน คือการคลุมเพื่อให้วัชพืชตาย ไม่งอกขึ้นมาใหม่ ซึ่งพลาสติกคลุมวัชพืชจะมีอยู่หลายชื่อมากๆ เช่น พลาสติกคลุมดิน ผ้ายางคลุมดิน พลาสติกคลุมแปลงผัก ผ้ายางคลุมวัชพืช พลาสติกดำคลุมดิน พลาสติกป้องกันวัชพืช เป็นต้น ซึ่งชื่อสินค้าเหมือนกันแต่สินค้าจริงๆอาจจะไม่เหมือนกัน วันนี้เราเลยมาอธิบายให้เคลียๆไปเลยว่าแต่ละอย่างเป็นอย่างไรครับ
พลาสติกคลุมวัชพืชมีกี่ประเภท
พลาสติกคลุมวัชพืชจะมีหลักๆด้วยกัน 2 แบบ ทั้ง 2 แบบ ไม่ได้มีตัวใดดีกว่าตัวใด แต่แค่การใช้งานแตกต่างกันนั่นเอง เรามาเริ่มจากอธิบายกันว่าพลาสติกคลุมวัชพืชแต่ละตัวมีคุณสมบัติอย่างไรกันก่อน
แบบที่ 1 คือ ผ้ายางคลุมดิน
แบบที่ 1 คนมักจะเรียกกันว่าผ้ายางคลุมดิน มักจะใช้สำหรับการคลุมแปลง และเจาะรูสำหรับการปลูกพืชผัก เช่น แตงโม แตงล้าน แตงกวา ถั่วฝักยาว สตอเบอรี่ เป็นต้น
ชื่อที่คนมักจะเรียกกัน
ผ้ายางคลุมดินมีอยู่หลายชื่อมากๆ เช่น ผ้ายางคลุมวัชพืช ผ้ายางคลุมแปลง พลาสติกคลุมดินแบบเจาะรู ผ้ายางคลุมดินเจาะรู หรือบางทีก็อาจจะเรียกชื่อตามพืชที่ปลูก เช่น ผ้ายางปลูกแตงโม ผ้ายางปลูกแตง ผ้ายางปลูกถั่วฝักยาวเป็นต้น
ลักษณะและคุณสมบัติของตัวผ้ายางคลุมดิน
- เนื้อผ้าจะเป็นลักษณะเหมือนฟิล์มพลาสติก มีความหนาตั้งแต่ 20ไมครอนไปถึง 50 ไมครอน
- เนื้อพลาสติกจะมี 2 สีด้วยกัน ด้านนึงจะเป็นสีดำ ส่วนอีกด้านจะเป็นสีเงิน ซึ่งการปูบนแปลงจะต้องนำด้านสีดำไว้ด้านล่าง และนำด้านสีเงินไว้ด้านบน
- น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ นิยมใช้คู่กับเทปน้ำหยด ซึ่งจะสอดไว้ใต้ผ้า เพื่อให้น้ำแก่พืช
- ความเหนียวของตัวผ้าขึ้นกับผู้ผลิตว่าใช้พลาสติกใหม่เยอะเพียงใด ถ้าใช้พลาสติกใหม่ในปริมาณที่เยอะก็จะทำให้ผ้าเหนียวและอายุการใช้งานยาวนานด้วย
- โดยปกติแล้วอายุการใช้งานของผ้ายางคลุมดินจะสั้นกว่าพลาสติกคลุมดิน
แบบที่ 2 คือ พลาสติกคลุมดิน
แบบที่ 2 คนมักจะเรียกว่าพลาสติกคลุมดินกันวัชพืช มักจะนิยมใช้สำหรับปูในโรงเรือน ปูข้างบริเวณบ้าน ปูตามทางเดิน ปูรอบโคนต้นไม้
ชื่อที่คนมักจะเรียกกัน
พลาสติกคลุมดินก็มักจะมีหลายชื่อมากๆ เช่น พลาสติกคลุมหญ้า พลาสติกคลุมวัชพืช พลาสติกดำคลุมดิน พลาสติกปูพื้นโรงเรือน พลาสติกคลุมโคนต้นไม้ เป็นต้น
คุณสมบัติและลักษณะภายนอก
- เนื้อผ้าจะเป็นลักษณะเหมือนพลาสติกสานกัน มีความหนาตั้งแต่ 70 แกรม ไปถึง 100 แกรม (นิยมเรียกความหนาในหน่วยแกรม โดยความหมายของแกรมคือ น้ำหนักกรัม/ตร.ม. เช่น 100 แกรม จะหมายถึง 100กรัม/ตร.ม.) ยิ่งความหนามากอายุการใช้งานก็จะมากตามเช่นกัน
- เนื้อพลาสติก 2 ด้านจะเหมือนกัน ดังนั้นจึงสามารถปูเอาด้านใดขึ้นด้านบนก็ได้ ไม่มีผลต่อการใช้งาน
- น้ำสามารถซึมผ่านได้ น้ำจะค่อยๆซึมผ่านไม่ได้ซึมผ่านดีเหมือนน้ำไหลผ่านเสื้อผ้า น้ำจะค่อยๆซึมผ่านรูที่มีการสานกันของเนื้อพลาสติก
- ตัวผ้าจะมีความเหนียวกว่าผ้ายางคลุมดินมาก เพราะด้วยความที่เป็นพลาสติกสานกัน และหนากว่า
- โดยปกติแล้วอายุการใช้งานของพลาสติกคลุมดินจะมากกว่าผ้ายางคลุมดิน
ผ้ายางคลุมดินนิยมใช้ทำอะไร
ในสมัยก่อนจะใช้ฟางข้าวที่ได้หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวในการคลุมดิน เพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชเกิดขึ้น และยังช่วยรักษาความชื้นในดิน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีไปไกลกว่าเดิม เลยมีการเปลี่ยนมาใช้ผ้ายางคลุมดินแทน ซึ่งคุณสมบัติก็คล้ายๆการใช้ฟางคลุมดิน แต่ในการปูจะง่ายและสะดวกกว่า เพราะผ้ายางคลุมดินจะมาเป็นลักษณะเป็นม้วน สามารถที่จะคลี่ออกมาแล้วคลุมดินได้ในแนวยาวในทีเดียว
ผ้ายางคลุมดินจะนิยมนำไปเจาะรู หลังจากนั้นก็นำต้นกล้าปลูกลงไปในรูที่เจาะ ซึ่งจะช่วยให้ต้นกล้าโตได้ไวกว่าเดิม เพราะวัชพืชรอบๆจะไม่ขึ้น สารอาหารในดินก็จะให้กับต้นพืชที่เราปลูกเต็มๆ และตัวผ้ายางคลุมดินยังช่วยรักษาความชื้นในดิน ทำให้การใช้น้ำในการปลูกน้อยลง
ผ้ายางคลุมดินจะนิยมใช้ปลูกพืชที่รอบการเก็บเกี่ยวสั้น คือ น้อยกว่า 6 เดือน เช่น พริก แตงโม แตงไทย แตงกวา แคนตาลูป ถั่วฝักยาว สตรอเบอรี่ ฟักทองญี่ปุ่น ผักกาดขาว ต้นหอมญี่ปุ่น ผักสลัด เป็นต้น
ปัจจุบันเทคโนโลยีการเจาะรูเป็นเรื่องง่ายขึ้น เกษตรกรเลยนิยมที่จะเลือกซื้อผ้ายางคลุมดินที่เจาะรูสำเร็จมาจากโรงงานมากกว่า เพราะทางโรงงานสามารถที่จะเจาะรูเดี่ยว เจาะรูคู่ หรือเจาะรูสลับได้เลย ระยะห่างก็สามารถกำหนดได้ เช่นห่าง 30 cm,40 cm,50 cm เป็นต้น ซึ่งช่วยให้ประหยัดเวลาในการเจาะรูเองไปได้เยอะ เพราะ1ม้วนถ้าเจาะเองประมาณ 2000 รู ก็อาจจะต้องใช้เวลา 2-4 ชมเลยทีเดียว
ผ้ายางคลุมแปลงผัก ป้องกันวัชพืช พืชผักโตไว ลดการใช้สารเคมี : อ่านเพิ่มเติม
พลาสติกคลุมดินนิยมใช้ทำอะไร
ประโยชน์ของพลาสคลุมดินคือป้องกันไม่ให้หญ้าขึ้น ซึ่งก็มีการนำไปใช้งานที่หลากหลายแต่หลักๆ เช่น การคลุมพื้นโรงเรือน คลุมตามทางเดินไม่ให้หญ้าขึ้น คลุมก่อนปูหญ้าเทียมหรือลงอิฐบล็อกตัวหนอน คลุมรอบโคนต้นไม้ คลุมรอบแปลงปลูก
ปัจจุบันเทรนการดูแลสุขภาพกำลังมาแรง ซึ่งความต้องการของการปลูกผักในปัจจุบัน ต้องการผักที่เป็นออแกนิค คือไม่มีการใช้สารเคมีใดๆเลย พลาสติกคลุมดินจึงมาตอบโจทย์ในส่วนนี้ เพราะเมื่อเราคลุมแล้ววัชพืชไม่เกิด เกษตรกรเลยไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้า และยังไม่เปลืองแรงในการตัดหญ้า ดูแลแปลงอีกด้วย
พลาสติกคลุมดินจะเนื้อเหนียว สามารถที่จะเดินเหยียบได้จึงนิยมนำมาปูคลุมพื้นโรงเรือน คลุมตามทางเดิน ก็จะช่วยให้พื้นที่ทำงานไม่รก บริหารจัดการดูแลพื้นที่ง่าย อีก1ประโยชน์ คือเมื่อหญ้าไม่รก พวกสัตว์ร้ายก็ไม่มาทำรังอีกด้วย ไม่เป็นอันตรายต่อเรา ซึงถือว่าได้ประโยชน์ 2 เด้งเลยทีเดียว
และสามารถที่จะสำหรับปูก่อนเทหินกรวด หรือหญ้าเทียมก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้หญ้าแทรกขึ้นมา แล้วทำให้พื้นที่ไม่สวย นิยมสำหรับงานทีเป็นคาเฟ่หรือพื้นที่จัดสวน
เกษตรกรบางรายก็นำพลาสติกคลุมดินไปตัดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส 1×1 เมตร หรือ 2×2 เมตร เพื่อไปคลุมรอบโคนต้นไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้หญ้าขึ้น ต้นไม้จะโตไวขึ้น และยังช่วยรักษาความชุ่มชื้น
ทำไมผ้ายางคลุมดินและพลาสติกคลุมดินถึงกันหญ้าได้
ทั้งผ้ายางคลุมดินและพลาสติกคลุมดินสามารถป้องกันวัชพืชขึ้นได้ทั้งคู่โดยหลักการก็คือ เวลาเอาผ้าไปปูแล้วจะทำให้แสงไม่สามารถที่จะส่องผ่านลงไปที่ดินได้ ทำให้วัชพืชที่ต้องการแสงในการเจริญเติบโต ไม่สามารถที่จะเจริญเติบโตได้ เมื่อเวลาผ่านไปวัชพืชที่อยู่ใต้ผ้าก็จะตายในที่สุด วัชพืชใหม่ๆก็จะไม่สามารถที่เจริญเติบโตได้เช่นกัน เพราะไม่มีแสงให้สังเคราะห์และเจริญเติบโตได้
ข้อควรระวัง
- การปูผ้าแนะนำเกลี่ยดินให้เรียบ สม่ำเสมอ เก็บหิน กิ้งไม้ หรือวัสดุมีคมออก เพื่อป้องกันตัวผ้าฉีกขาด
- ไม่ควรเผาตัวผ้า เพราะเป็นพลาสติก จะปล่อยสารพิษสู่ธรรมชาติ
สรุป
พลาสติกคลุมวัชพืชมี 2 แบบหลักๆ คือ พลาสติกคลุมดินและผ้ายางคลุมดิน ทั้ง 2 แบบ มีประโยชน์สำหรับเกษตรกรทั้งคู่ การนำไปใช้งานแตกต่างกัน ดังนั้นควรเลือกซื้อให้เหมาะกับการใช้งาน